1. แนวคิดพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม

แนวคิดของพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคมเป็นจุดเปลี่ยน (transition) ของการทำงานกับสังคมของมหาวิทยาลัยซึ่งเดิมดำเนินการอยู่ในรูปแบบของงานบริการวิชาการ (service) และงานอาสาสมัคร (volunteering) เป็นหลัก ไปสู่การทำงานรวม (engagement) กับภาคในพื้นที่ในลักษณะเชิงสถาบันที่เป็นหุ้นสวนระยะยาว (long-term partnership) และหวังที่จะให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) อย่างแท้จริงของชุมชนหรือสังคมในพื้นที่ พันธกิจนจะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างภารกิจหลักทุกภารกิจของมหาวิทยาลัย อาทิ การผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการ และการทานุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเข้าด้วยกันอย่างมียุทธศาสตร์และเป็นระบบและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งในระหว่างมหาวิทยาลัยด้วยกันเอง และระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยจากความสำคัญของพันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมดังกล่าวหลายหน่วยงานจึงร่วมกันจัดตั้ง “พันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม” (Engagement Thailand – EnT) ขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การทำงานวิชาการเพื่อสังคม การพัฒนาระบบบริหารจัดการตลอดจนเป็นจุดประสานความรวมมือระหว่างมหาวิทยาลัยที่สนใจพันธกิจเพื่อสังคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่มา : สมาคมพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม https://www.engagementthailand.org/about-us/

2. หลักการและเหตุผล

มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม หรือ University Engagement เป็นพันธกิจหลักประการหนึ่งที่มหาวิทยาลัยสมัยใหม่ทั่วโลกให้ความสำคัญและมีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบการขับเคลื่อนพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม (University Engagement) ในประเทศไทย หลายหน่วยงานจึงร่วมจัดตั้งเครือข่าย มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมภายใต้ชื่อ Engagement Thailand (EnT) ขึ้น เพื่อส่งเสริมบทบาทมหาวิทยาลัยในการทำงานเพื่อสังคม และดำเนินการบูรณาการหลักคิด แนวปฏิบัติของพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคมกับการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ เพื่อการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต การสร้างงาน และการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนเข้าด้วยกันอย่างมียุทธศาสตร์และเป็นระบบผ่านกิจกรรมการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ การวิจัยรับใช้สังคมและการบริการวิชาการแก่ชุมชน ภายใต้การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระหว่างมหาวิทยาลัย เครือข่ายมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานภายนอก ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐบาล และภาคเอกชน

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในส่วนภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐ และเจตนารมณ์ของประชาชนในภาคเหนือให้เป็นศูนย์กลางทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติโดยส่วนรวม ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงเป็นแหล่งสะสม ค้นคว้า วิจัย โดยคณาจารย์ นักวิจัยและนักศึกษา จากทุกคณะ/ส่วนงาน ซึ่งบุคลากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินการถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมสู่ชุมชน ท้องถิ่นและสังคมวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริการวิชาการด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ และการเสริมพลังชุมชน/ท้องถิ่นจนเกิดความเข้มแข็ง  ในช่วงทศวรรษที่ 6 ภายใต้แผนพัฒนาการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม”

เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “รับผิดชอบต่อสังคม” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งมั่นดำเนินการตาม “แนวคิดพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม (Societal Engagement) โดยได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเป้าหมายและได้รับการนึกถึงเป็น “ที่แรก” ในการแก้ไขปัญหาสำคัญและเสริมพลัง (Empowerment) ของชุมชน ท้องถิ่นและสังคมโดยใช้ศักยภาพของมหาวิทยาลัยและเครือข่าย” ซึ่งจะก่อให้เกิดผล 1) คุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น จากการบริการองค์ความรู้พร้อมใช้และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ 2) ผลงานบริการวิชาการสหวิทยาการที่สร้างผลกระทบสูงในวงกว้าง ต่อชุมชน/กลุ่มจังหวัด/ประเทศ และ 3) บุคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้นำ ในองค์กรด้านวิชาการรับใช้สังคม ในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและนานาชาติ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพการประชุมวิชาการระดับชาติ Engagement Thailand ครั้งที่ 9 (The 9th Engagement Thailand Annual Conference 2024 Driving Society Engagement Innovation toward Sustainability) ร่วมกับสมาคมพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม โดยมีกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 5-8 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซด์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นเวทีสำหรับนักวิชาการและนักวิจัยในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองทางด้านวิชาการในการส่งเสริมบทบาทมหาวิทยาลัยในการทำงานเพื่อสังคม ให้เกิดความเข้มแข็ง ภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายของมหาวิทยาลัยในประเทศและต่างประเทศ โดยดำเนินการตามแนวปฏิบัติของพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคมกับการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการแก่ชุมชน โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายรัฐบาล สู่ความมั่งคั่ง และยั่งยืน

3. วัตถุประสงค์

3.1 เพื่อจัดเวทีนำเสนอผลงานและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการขับเคลื่อนพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคมให้เกิดความเข้มแข็งภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายของมหาวิทยาลัยระดับประเทศและระดับนานาชาติ

3.2 เพื่อให้มหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานด้านงานวิชาการรับใช้สังคม

3.3 เพื่อต่อยอดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย ในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา และ พัฒนาชุมชน สังคม อย่างยั่งยืน